Inside the fugue ตอนที่ 1: fugue คืออะไร?

ผมได้ศึกษาและทดลองประพันธ์ดนตรีคลาสสิคในรูปแบบ "ฟิวจ์" (fugue) มาได้ครึ่งปีแล้ว จนรู้สึกว่าอยากจะลองเขียนถึง fugue ว่ามันคืออะไร พิเศษ อย่างไร และที่สำคัญที่สุด คือแต่งอย่างไร เผื่อจะมีประโยชน์กับผู้ที่รักดนตรีและสนใจบทประพันธ์รูปแบบนี้บ้าง เพราะข้อเขียนเกี่ยวกับ fugue นั้นมีน้อย หาอ่านยาก โดยเฉพาะในภาษาไทยคิดว่าคงมีในตำราระดับมหาวิทยาลัย ที่ส่วนมากก็เรียบเรียงขึ้นมาจากตำราภาษาอังกฤษเท่านั้น

Fugue เป็น "วิธีการ" ประพันธ์ดนตรีแบบหนึ่งที่เติบโตมาในยุโรปตั้งแต่ยุคกลางและมารุ่งเรืองที่สุดในยุคบาร็อค (baroque) ประมาณปี ค.ศ.1600-1725 แต่หลังจากนั้นก็เสื่อมความนิยมอย่างรวดเร็วเมื่อโลกศิลปะเข้าสู่ยุคคลาสสิคคัล (classical) อย่างไรก็ตาม นักประพันธ์และผู้ชื่นชอบดนตรีคลาสสิคส่วนหนึ่งก็ยังคงให้ความสนใจ fugue เพราะเป็นวิธีการประพันธ์ที่สร้างดนตรีที่มีลักษณะพิเศษบางประการที่ไม่มีในดนตรีรูปแบบอื่นๆ

Fugue มีลักษณะเฉพาะตัว คือเป็นดนตรีที่แต่ละเพลงนั้นถือกำเนิดขึ้นจากทำนองที่เป็น "ประธาน" (subject) เพียงทำนองเดียว (อย่างไรก็ตาม fugue ขั้นสูงบางแบบมีประธานมากกว่า 1 ทำนอง) ดนตรีแบบ fugue จะให้เสียงแต่ละเสียงนั้นเล่นทำนองประธานซ้ำไปมา ในรูปแบบต่างๆ กัน ในขณะที่ประสานเสียงกับทำนองอื่นๆ ที่เสียงอื่นๆ เล่นในเวลาเดียวกัน กลายเป็นลวดลายที่สลับซับซ้อน ถักทอเกี่ยวเนื่องกันไปอย่างวิจิตรพิศดาร

ด้วยเหตุนี้ fugue จึงมีความแตกต่างจากดนตรีส่วนมากที่เราคุ้นเคยกัน เพราะดนตรีตะวันตกส่วนมาก ทั้งแบบคลาสสิคคัลและที่ไม่ใช่คลาสสิคคัล ต่างอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดในยุคคลาสสิคคัล ซึ่งให้ความสำคัญกับการแบ่งเนื้อหาของดนตรีออกเป็นส่วนๆ อย่างมีความสมดุลและมีเหตุมีผล และพัฒนาอารมณ์ความรู้สึกจากความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างในส่วนต่างๆ กัน ในขณะที่ดนตรียุคบาร็อค เช่น fugue นั้น ส่วนมากเป็น contrapuntal music คือดนตรีที่มองว่าหน่วยพื้นฐานของดนตรี คือ “เสียง” (voice) ที่เมื่อมีมากกว่า 1 เสียง ก็มาประสานสอดคล้องกัน โดยแต่ละเสียงรักษาความเป็นอิสระและมีศักดิ์เทียบเท่ากัน ต่างจากดนตรียุคคลาสสิคคัลเป็นต้นมาที่ลดความสำคัญของเสียงที่เป็นอิสระและเพิ่มความสำคัญของ block โครงสร้างที่มาเรียงกันเหมือนก้อนอิฐ

ความที่ fugue คือการเรียงร้อยกันของเสียงที่เป็นอิสระจากกัน ทำให้เกิดความรู้สึกที่เฉพาะตัว เช่นความรู้สึกเลื่อนไหลกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวเหมือนน้ำไหล ความรู้สึกของการเข้ามาและจากไปของเสียงแต่ละเสียง ความรู้สึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างเสียงแต่ละเสียงอย่างสลับซับซ้อน ความรู้สึกถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันท่ามกลางความแตกต่างและความเป็นอิสระ ความรู้สึกเหล่านี้เป็นประสบการณ์ที่พิเศษและเป็นเอกลักษณ์ ที่เป็นคุณค่าทางใจอันเกิดขึ้นมาจากประสบการณ์ที่ได้จากการเสพศิลปะรูปแบบนี้

สำหรับตัวผมแล้ว ความรู้สึกเหล่านี้คือหนึ่งในประสบการณ์ที่ทรงคุณค่าที่ศิลปะมอบให้แก่เราได้ ทำให้เราสัมผัสถึงความงามและความจริงของธรรมชาติ ผ่านการฟังดนตรีเพียงไม่กี่นาที

ในโลกนี้มีนักประพันธ์ที่แต่งดนตรีแบบ fugue อย่างจริงจังอยู่ไม่มาก ผู้ที่ได้รับการยอมรับที่สุดอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง คือ Johann Sebastian Bach ที่ประพันธ์ fugue ไว้จำนวนมากอย่างเป็นระบบ โดยชุดหลักได้แก่ The Well-Tempered Clavier Book I และ Book II ที่เป็นดนตรี “บทนำ” (prelude) คู่กับ fugue ในทุกๆ คีย์ทั้งเมเจอร์และไมเนอร์ รวม 24 คู่หรือ 48 เพลง นอกจากนั้นยังได้แต่งดนตรีชุด The Art of Fugue เป็นชุดของ variation ร่วมสิบกว่าเพลงที่แต่งขึ้นจากฐานของทำนองประธานเพียงทำนองเดียว เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้และเทคนิคทั้งหมดที่เป็นไปได้ในการประพันธ์แบบ fugue นอกจาก Bach แล้ว Mozart ก็ได้ประพันธ์ fugue ไว้บ้าง ที่มีชื่อเสียงที่สุดน่าจะเป็นท่อนหนึ่งใน Requiem ดนตรีประกอบงานศพที่เป็นงานชิ้นสุดท้ายของ Mozart ส่วน Beethoven ก็ให้ความสนใจกับ fugue โดยเฉพาะในช่วงท้ายๆ ของชีวิต ได้แต่ง string quartet ที่เป็น fugue ทั้งท่อนเอาไว้อย่างแยบยลงดงาม จนผู้สนใจต่างกล่าวขาญว่าเป็นที่สุดของ fugue ที่โลกเคยรู้จัก ส่วนนักประพันธ์คนสุดท้ายที่แต่ง fugue ไว้อย่างเป็นระบบ คือ Dmitri Shostakovich นักประพันธ์รัสเซีย ที่แต่ง Preludes and Fugues ครบ 24 คีย์เช่นเดียวกับ Bach

ติดตามตอนต่อไป เรื่องโครงสร้างของ fugue ครับ

Popular posts from this blog

Inside the fugue ตอนที่ 2: โครงสร้างของ fugue (2/2)

Inside the fugue ตอนที่ 2: โครงสร้างของ fugue (1/2)