Inside the fugue ตอนที่ 2: โครงสร้างของ fugue (2/2)

ตอนที่แล้วเราพูดถึงบทเปิดนำ หรือ exposition ของ fugue ในตอนนี้เราจะพูดถึง “ภาค” (episode) และบทสรุป (ending) ของ fugue

หลังจากที่บทเปิดนำจบลง fugue ก็จะเข้าสู่ episode ที่ 1 ทันที fugue บทหนึ่งสามารถมีกี่ episode ก็ได้ หน้าที่ของ episode คือการนำเสนอแนวคิดที่มีลีลาและอารมณ์แบบหนึ่งๆ โดยหยิบเอาประโยคประธาน (subject) มาประกอบการนำเสนอนั้นในรูปแบบต่างๆ กันไป

ในแต่ละ episode ดนตรีจะเริ่มด้วยแนวคิดที่มีเอกลักษณ์ โดยเอกลักษณ์นั้นอาจประกอบขึ้นจากองค์ประกอบทางดนตรีต่างๆ เช่น ทำนอง เสียงประสาน รูปแบบจังหวะ พื้นผิว (texture) รูปแบบการซ้ำ (repetitive pattern) และรูปแบบอื่นๆ ที่ประกอบกันให้กลายเป็นอารมณ์ที่โดดเด่นแตกต่างจากบทเปิดนำและ episode อื่นๆ อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่นำเสนอ episode นี้ ผู้ประพันธ์จะต้องนำเอาประโยคประธานเข้ามาประกอบใน episode ด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง เช่น การนำเสนอประโยคประธานด้วยเสียงเพียงเสียงเดียวและเสียงอื่นประสานด้วยรูปแบบที่ต่างจากบทเปิดนำ การนำเสนอประธานด้วยเสียงที่ “ซ่อน” อยู่ภายในเสียงอื่น เช่นเสียง alto หรือ tenor ทำให้ผู้ฟังรับรู้ประโยคประธานโดยแทบไม่รู้ตัว การนำเสนอประโยคประธานเพียงบางส่วน เช่น ส่วนต้น หรือส่วนท้าย การนำเสนอประโยคประธานที่เล่นแบบพลิกกลับ (inversion) ในขั้นคู่เสียงต่างๆ หรือแม้แต่การเล่นประโยคประธานกลับหลังไปหน้า (reverse) เป็นต้น

การนำเสนอใน episode นอกจากจะเป็นการสร้างอารมณ์ที่โดดเด่นเป็นช่วงๆ แล้ว ยังมีหน้าที่เป็นการพัฒนาเนื้อหาและอารมณ์ของดนตรีไปข้างหน้าไปในตัว โดยปกติแล้ว หน้าที่นี้จะเป็นของส่วน development ในดนตรียุคคลาสสิคคัลเป็นต้นมา แต่ใน fugue เราเรียกการพัฒนาเนื้อหาและอารมณ์นี้ว่า episode

Episode แต่ละท่อน มักจะปิดท้ายด้วยการนำเสนอประโยคประธานที่มีรูปแบบทำนองสอดประสาน (counterpoint) และเสียงประสาน (harmony) ที่คล้ายคลึงกับที่นำเสนอในส่วนบทเปิดนำ การซ้ำแบบคล้ายคลึงกันนี้เป็นการให้คิวผู้ฟังว่า episode นั้นกำลังจะสรุปแล้ว เพื่อที่จะให้ผู้ฟังคาดหวังที่จะได้ฟังรูปแบบและอารมณ์ใหม่ใน episode ถัดไป

Fugue บทหนึ่งอาจมีเพียง episode เดียว หรือสี่ถึงห้า episode หรือมากกว่าก็สุดแต่ที่ผู้ประพันธ์จะต้องการ หลังจาก episode สุดท้ายสิ้นสุดลง fugue จะเข้าสู่บทสรุป หรือที่ภาษาดนตรีสมัยปัจจุบันเรียกว่าท่อน coda บทสรุปนี้สามารถมีได้หลายรูปแบบ โดยทั่วไปมักเริ่มด้วยการซ้ำรูปแบบและทำนองหลักของบทเปิดนำ และนำเสนอต่ออย่างเร้าอารมณ์ให้เข้มข้นขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ (แต่ไม่จำเป็นที่จะเป็นจุด climax เพราะจุด climax ใน fugue มักจะเกิดในระหว่าง episode โดยมักเกิดขึ้นใน episode ท้ายๆ ทั้งนี้ดนตรียุคบาร็อคไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอารมณ์ไปสู่จุด climax มากเท่าดนตรียุคโรแมนติกหรือคลาสสิคคัล แต่เน้นความต่อเนื่องลื่นไหลและเปลี่ยนไปอย่างแนบเนียนของอารมณ์มากกว่า) จากนั้นก็จะจบด้วยสูตรจบ หรือ cadence ซึ่งมักจะเป็น authentic cadence คือลำดับคอร์ด V-I หรือ V-i ในคีย์ไมเนอร์

ในขนบของบุคบาร็อค ดนตรีในคีย์ไมเนอร์อาจจบด้วยคอร์ดเมเจอร์ เช่น ดนตรีคีย์ C minor อาจจบด้วยคอร์ด C major การจบแบบนี้เรียกว่า Picardy third ซึ่งในหูของคนสมัยใหม่อาจฟังดูประหลาด แต่ในยุคนั้นถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติปกติ ส่วนเหตุผลอาจเป็นเพราะคอร์ดเมเจอร์ถูกสร้างขึ้นจากลำดับ overtone ที่อยู่ใกล้กันมากกว่าคอร์ดไมเนอร์ เสียงของคอร์ดเมเจอร์เมื่อเป็นคอร์ดจบจึงมีความกังวานมากกว่า เป็นการส่งสัญญาณถึงความสิ้นสุดของบทเพลงได้อย่างชัดเจน

การเดินทางของ fugue จากบทเปิดนำ ไปสู่ episode ต่างๆ จนกระทั่งท่อนจบ มักจะมีความยาวทั้งสิ้นไม่มากนัก หากเป็น fugue สำหรับเครื่องดนตรีประเภทคีย์บอร์ด ก็มักมีความยาวเพียงสองถึงสามนาทีเท่านั้น ส่วน fugue สำหรับออร์แกน เครื่องสาย หรือเสียงร้อง อาจมีความยาวมากกว่า เช่นสี่ ห้านาที หรือมากกว่า แต่แทบจะไม่ยาวเกินสิบนาที ต่างจากฟอร์มยุคถัดมา เช่น sonata form ซึ่งบ่อยครั้งจะมีความยาวมากกว่าสิบนาที

ตอนถัดไป จะกล่าวถึงเทคนิคของ fugue ทั้งที่เป็นเทคนิคทั่วไปของดนตรีที่เน้นเสียงสอดประสาน (counterpoint) และเทคนิคที่มีใช้เฉพาะใน fugue เท่านั้น

Popular posts from this blog

Inside the fugue ตอนที่ 1: fugue คืออะไร?

Inside the fugue ตอนที่ 2: โครงสร้างของ fugue (1/2)