Inside the fugue ตอนที่ 2: โครงสร้างของ fugue (1/2)

Fugue ก็เหมือนดนตรีรูปแบบอื่นๆ คือมีโครงสร้างที่ถูกกำหนดไว้ โครงสร้างของดนตรีนั้นไม่ได้ถูกกำหนดขึ้นมาลอยๆ แต่มีเหตุมีผลที่สอดคล้องกันตามธรรมชาติ

Fugue หนึ่งบท ประกอบขึ้นด้วย 3 ส่วนเรียงลำดับกันไป คือ 1) บทเปิดนำ (Exposition) 2) ภาค (Episodes) และ 3) บทสรุป (Ending)

บทเปิดนำ หรือ Exposition เป็นส่วนที่สำคัญและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ fugue เพราะเป็นส่วนที่นำเสนอองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ดนตรีชิ้นนี้เป็น fugue ได้แก่

1. ประโยคประธาน (Subject): เป็นประโยคดนตรีที่เป็นแก่นของ fugue บทนั้น ประธานนี้จะถูกนำเสนอเป็นลำดับแรกทันทีด้วยเสียงเพียงเสียงเดียว โดยไม่มีบทนำหรือท่อน intro เหมือนที่ดนตรียุคถัดมานิยมปฏิบัติกัน ประโยคประธานนี้อาจเป็นวลีสั้นๆ เพียง 2 บาร์ หรือจะเป็นประโยคยาว 4,6,8 บาร์ หรือมากกว่า ก็เป็นได้

ผู้ประพันธ์มีอิสรภาพเป็นอย่างยิ่งที่จะคิดประโยคประธานขึ้นมา อย่างไรก็ตามทำนองบางแบบจะเหมาะที่จะนำมาเป็นประโยคประธานมากกว่าแบบอื่นๆ โดยทำนองที่เหมาะสม คือทำนองที่มีรูปร่างของกลุ่มเสียง (melodic curve) ที่ต่อเนื่องคล้ายเพลงร้อง สามารถจดจำได้ง่าย มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมักจะมีความรู้สึกจบในตัวเอง

2. ประโยคขานรับ (Answer): เมื่อประธานกล่าวจบ เสียงที่สอง ซึ่งอาจจะเป็นเสียงใดๆ ก็ได้จาก soprano, alto, tenor, bass จะขานรับประธาน ด้วยการเล่นประโยคเดียวกันกับประธาน แต่เสียงสูงกว่าประธาน 5 คู่เสียงเพอร์เฟ็กต์ (perfect 5th degree interval) หรือเท่ากับกับคู่ 4 เพอร์เฟ็กต์เมื่อพลิกกลับลงมาใน octave ล่าง ประโยคขานรับนี้จะนำเสนอแบบ direct transposition คือรักษะระยะห่างระหว่างโน้ตแต่ละตัว หรือแบบ tonal transposition คือพยายามรักษะระยะหว่างระหว่างโน้ตตามประธาน แต่แก้ไขโน้ตบางตัวให้กลับเข้ามาอยู่ในคีย์หลักของดนตรีบทนั้นก็ได้ แบบที่สองนี้ในภาษาของ fugue เรียกว่า tonal answer

การที่ answer มีได้สองแบบนี้ ทำให้ fugue มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะถ้าหากขานรับด้วย direct transposition ผลที่ได้มักจะเกิดเป็นการเคลื่อนที่ของเสียงประสานเข้าสู่ dominant ซึ่งก็คือการเปลี่ยนคีย์ชั่วคราวขึ้นบนคู่ 5 เช่นถ้าเริ่มจากคีย์ C major ท่อน answer ก็มีแนวโน้มที่จะทำให้ดนตรีเคลื่อนสู่คีย์ G major เป็นต้น ผลกระทบแบบนี้มักจะทำให้ fugue มีความน่าสนใจเพราะสร้างสีสัน (tone colour) ที่แปลก (หรือแปร่ง) หู แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างแรงตึงเครียด (tension) ที่ดึงผู้ฟังสู่คีย์อื่นทั้งๆ ที่ดนตรีเพิ่งเริ่มแค่ไม่กี่บาร์ ด้วยเหตุนี้จึงมีแนวทางที่สอง คือ tonal answer ที่แก้ไขโน้ตบางตัวให้เข้ากับคีย์หลักของดนตรี เป็นการลดแรงตึงเครียดนี้ลง

3. ประโยคสะท้อนประธาน (Counter Subject หรือ CS): ในระหว่างที่ประโยคขานรับถูกนำเสนอ เสียงแรกที่เพิ่งนำเสนอประโยคประธานจบไป ก็จะนำเสนอประโยคสะท้อนประธานต่อในเวลาเดียวกัน ประโยคสะท้อนประธาน หรือ CS นี้ มีสองหน้าที่หลัก หน้าที่แรก คือการเดินประโยคต่อจากประธานเพื่อทำให้ดนตรีเคลื่อนที่ไปข้างหน้า หน้าที่ที่สอง คือการเป็นเสียงประสานแบบ counterpoint กับประโยคตอบรับ จุดนี้เองที่เป็นจุดคานงัดที่ทำให้ท่อนเปิดของ fugue นั้นปลุกเร้าจิตใจผู้ฟังอย่างน่าสนใจ เพราะเป็นช่วงเวลาที่การเคลื่อนไหวของดนตรี ได้ขยายมิติ จากแนวนอน คือทำนองที่ถูกนำเสนอโดยประธาน ไปสู่แนวตั้ง คือเสียงประสานที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเคลื่อนไหวแนวนอนที่เดินหน้าไปไม่หยุด

CS มักจะเป็นตัวกำหนดลักษณะพื้นผิว (texture) และรูปแบบของจังหวะ (rhythmic pattern) ของ fugue ทั้งบท เพราะผู้ประพันธ์จะมีอิสรภาพในการกำหนดว่า CS จะสะท้อน (counter) กับทำนองของประโยคขานรับอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น ถ้าประโยคขานรับมีทำนองเป็นโน้ตตัวดำเป็นหลัก แทนค่าความยาวเสียงเท่ากับ 1 CS อาจประสานเสียงด้วยค่าความยาวเสียงเดียวกัน คือตัวดำ (1) หรือยาวกว่า เช่น ตัวขาว (2) ตัวกลม (4) หรือสั้นกว่า เช่นขเบ็ตหนึ่งชั้น (1/2) ขเบ็ตสองชั้น (1/4) เป็นต้น รูปแบบการสะท้อนนี้ เมื่อดำเนินไปก็มักจะคงรูปแบบพื้นฐานไว้ในดนตรีทั้งบท หากจะมีเปลี่ยนแปลงก็จะเปลี่ยนในรายละเอียดภายใต้โครงสร้างใหญ่ นี่คือเอกลักษณ์ของดนตรีและศิลปะยุคบาร็อค

ต่อจากนั้น ก็ขึ้นอยู่ว่า fugue บทนั้นจะมีกี่เสียง ถ้ามี 3 เสียง ดนตรีมักจะเข้าสู่ท่อนเชื่อมสั้นๆ ที่เตรียมผู้ฟังเข้าสู่การเปิดตัวเสียงที่ 3 โดยเมื่อเสียงที่ 3 เริ่มนำเสนอ จะนำเสนอประโยคประธาน (ไม่มี transposition) ใน octave ที่ต่างจากเสียงแรก เป็นการนำผู้ฟังกลับเข้าสู่คีย์หลักที่หนักแน่นของดนตรีบทนั้นอีกครั้ง หลังจากที่ประโยคขานรับที่นำเสนอโดยเสียงที่สองได้นำผู้ฟังออกสู่คีย์ใหม่คู่ 5 ไปชั่วคราว ในเวลาเดียวกันนี้ เสียงที่สองซึ่งเพิ่งนำเสนอประโยคขานรับจบไป ก็จะนำเสนอ CS ที่เสียงแรกเพิ่งนำเสนอจบไป โดยอาจนำเสนอตรงๆ หรือในคีย์ dominant เพื่อให้สอดคล้องกับคีย์ของประโยคขานรับก็ได้ ในระหว่างนี้ เสียงแรกที่นำเสนอ CS จบไป จะนำเสนอ CS ชุดใหม่ เรียกว่า CS2 ที่ให้ความต่อเนื่องจาก CS1 และสร้างเสียงประสานกับ CS ที่เสียงที่สองนำเสนออยู่ พร้อมไปกับประโยคประธานที่เสียงที่สามนำเสนออยู่ในเวลาเดียวกัน

ณ จุดนี้ fugue จะมีเสียงประสานครบคอร์ด คืออย่างน้อยสามเสียงพร้อมๆ กัน ซึ่งในใจของผู้ฟังจะเกิดความรู้สึกหนักแน่น มั่นคง ปลอดภัย พร้อมที่จะเดินไปข้างหน้า

ในกรณีที่ fugue มี 4 เสียง พอเสียงที่ 3 นำเสนอประโยคประธานจบ เสียงที่ 4 จะนำเสนอประโยคสะท้อนประธาน ลักษณะเดียวกันกับเมื่อเสียงที่ 2 สะท้อนเสียงที่ 1 เป็นคู่ๆ ไป เสียงเสียงที่ 1 กับ 2 ก็จะดำเนิน CS, CS2, และ CS3 ไล่ต่อกันไปเรื่อยๆ

จากนั้น ดนตรีอาจเข้าสู่ท่อนเชื่อมสั้นๆ แล้วจบด้วย cadence หรือสูตรการจบ ซึ่งเป็นได้ทั้งแบบ authentic cadence (V-I), half cadence (I-V), plagal cadence (I-IV), หรือแม้กระทั่ง deceptive cadence (V-iv หรือ V-VI ในคีย์ไมเนอร์) แล้วดนตรีจะเข้าสู่ “ภาค” หรือ episode ต่างๆ ทันที

ตอนต่อไปจะพูดถึง “ภาค” และบทสรุปครับ

Popular posts from this blog

Inside the fugue ตอนที่ 1: fugue คืออะไร?

Inside the fugue ตอนที่ 2: โครงสร้างของ fugue (2/2)